ปัจจุบัน นาโนเทคโนโลยี (Nanotechnology) ซึ่งเป็นสหวิทยาการ ของเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการสร้าง สังเคราะห์ ควบคุมและใช้ประโยชน์จากวัสดุหรือโครงสร้างที่มีขนาดเล็กมากในระดับนาโนเมตร กำลังเป็นที่นิยมแพร่หลายในระดับสากลและในประเทศไทย ทั้งในด้านการศึกษาวิจัย เพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในสาขาต่างๆ รวมถึงการนำเทคโนโลยีดังกล่าว มาประยุกต์ใช้ในการผลิตนวัตกรรมของภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณลักษณะพิเศษในการใช้งานที่หลากหลายมากขึ้น ซึ่งเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มของผลิตภัณฑ์ได้ในอีกทางหนี่ง
จากประโยชน์ดังกล่าว ทำให้การมุ่งส่งเสริมงานวิจัยและพัฒนานาโนเทคโนโลยีในระดับห้องปฏิบัติการ ตลอดจนการถ่ายทอดเทคโนโลยี เพื่อการประยุกต์ใช้ในระดับอุตสาหกรรม เพื่อยกระดับขีดความสามารถทางด้านนาโนเทคโนโลยีของประเทศให้เกิดประโยชน์สูงสุดนั้น จำเป็นจะต้องมีศูนย์กลางความเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน
ดังนั้นจึงมีการก่อตั้ง สมาคมนาโนเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ขึ้น ในวันที่ 27 มกราคม 2553 โดยเป็นความร่วมมือของ หน่วยงานภาครัฐ ภาคการศึกษา และภาคเอกชนต่างๆ ร่วมกันจัดตั้งสมาคมฯขึ้น เพื่อเป็นหน่วยงานอิสระที่ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลาง ในการเชื่อมโยง แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ทางวิชาการจากองค์กรภาครัฐ ตลอดจนมหาวิทยาลัยต่างๆ ให้ไปสู่ภาคอุตสาหกรรมทั้งในระดับประเทศและต่างประเทศ พร้อมทั้งการเป็นศูนย์กลางประสานงาน ในการให้บริการแก้ปัญหาและพัฒนาอุตสาหกรรมต่างๆ ซึ่งจะก่อให้เกิดการเชื่อมโยงของภาควิชาการและภาคอุตสาหกรรม ในวงการนาโนเทคโนโลยีของประเทศไทยได้อย่างเป็นรูปธรรม และกว้างขวางมากยิ่งขึ้น รวมถึงการเป็นศูนย์กลางในการเผยแพร่ความรู้ ความเข้าใจให้กับสังคมและประชาชนในประเทศให้มีความพร้อม ในการรับข้อมูลข่าวสารของนาโนเทคโนโลยีทั้งในปัจจุบันและอนาคต อันเป็นการร่วมกันพัฒนาความรู้ ความเข้าใจและการประยุกต์ใช้ประโยชน์ของนาโนเทคโนโลยีของประเทศไทยได้อย่างยั่งยืนต่อไป
พิธีงานเปิดตัวสมาคมนาโนเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย
นาย พยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และ ศ.นพ.ดร.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ผู้อำนวยการศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ ในฐานะนายกสมาคมนาโน เทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ได้ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีเปิดตัว สมาคมนาโนเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย อย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 7 ต.ค. 2553 ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิตติ์ ซึ่งสมาคมนาโนเทคโนโลยีแห่งประเทศไทยนี้ เป็นการรวมตัวกันของภาคพันธมิตร ทั้งภาคอุตสาหกรรม ภาครัฐและภาควิชาการ 8 มหาวิทยาลัยซึ่งเป็นเครือข่ายความเป็นเลิศของศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะเผยแพร่ความรู้วิชาการ พร้อมทั้งเป็นกลไกสำคัญในการผลักดันให้ภาคเอกชน สามารถนำความรู้ทางด้านนาโนเทคโนโลยีไปประยุกต์ใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อวงการอุตสาหกรรมของประเทศ อันเป็นการเสริมสร้างศักยภาพในการแข่งขันของประเทศได้อย่างยั่งยืนต่อไป
ทั้งนี้ ในเบื้องต้น ทางสมาคมฯ จะประกอบกิจกรรม 2 กิจกรรมคือการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมวิชาการ นานาชาตินาโนไทยแลนด์ 2010 ระหว่างวันที่ 18-20 พ.ย.53 ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย และ การจัดทำฉลากผลิตภัณฑ์นาโน (NanoQ) เพื่อรับรองผลิตภัณฑ์ ใน 3 กลุ่มผลิตภัณฑ์คือ สิ่งทอ สีหรือสารทำเคลือบประเภทของเหลวไม่นับรวมประเภทฟุ้งกระจายหรือสเปรย์ และกระเบื้องเคลือบหรือ สุขภัณฑ์ว่ามีส่วนประกอบของวัสดุนาโนและมีคุณสมบัติตามที่กล่าวอ้างหรือไม่ ซึ่งจะเป็นการช่วยคุ้มครองผู้บริโภค ให้มีความมั่นใจในผลิตภัณฑ์ดังกล่าวต่อไป
ในงานเปิดตัว สมาคมนาโนเทคโนโลยีแห่งประเทศไทยนี้ ได้มีการปาฐกถาพิเศษเรื่อง “ความสามารถของอุตสาหกรรมไทยต่อภาวะท้าทายด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม” โดย คุณพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และ “บทบาทของสมาคมนาโนเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ต่อเศรษฐกิจและสังคม” โดย ศ.นพ. ดร. สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล นายกสมาคมฯ พร้อมทั้ง มีการเสวนาเรื่อง “ทิศทางและอนาคตของผลิตภัณฑ์นาโนในประเทศไทย” โดย ผู้บริหารของศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ ร่วมกับ ผู้แทนจาก สำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค และผู้แทนจากภาคอุตสาหกรรมต่างๆ รวมทั้งยังมีกิจกรรมการเดินแฟชั่นโชว์ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบ ของนาโนเทคโนโลยี ซึ่งกิจกรรมทั้งหมดนี้ ได้รับความสนใจและการตอบรับเป็นอย่างดี จากแขกท่านผู้มีเกียรติจากหน่วยงานต่างๆทั้งภาครัฐและภาคเอกชน สมตามวัตถุประสงค์และเจตนารมย์ของสมาคมฯ
วัตถุประสงค์สมาคม
- เพื่อเป็นสมาคมทางวิชาการ ไม่เกี่ยวกับการค้าและการเมือง
- เพื่อพัฒนาการศึกษา ทางนาโนเทคโนโลยีทุกสาขา รวมทั้งส่งเสริมสร้างเจตคติที่ดีต่อการศึกษาวิชานี้
- เพื่อสนับสนุนส่งเสริมการวิจัย ทางนาโนเทคโนโลยีทุกสาขา
- เพื่อส่งเสริมให้บริการและเผยแพร่ความรู้ ทางนาโนเทคโนโลยีแก่ประชาชนเพื่อยกระดับคุณภาพของชีวิต
- เพื่อเป็นศูนย์ประสานงานเผยแพร่และแลกเปลี่ยนความรู้ ทางนาโนเทคโนโลยีระหว่างสมาชิก และผู้ที่สนใจทางนาโนเทคโนโลยีทั้งภายในและภายนอกประเทศ