HomeNano Association Newsเล็งออกฉลากนาโนคิวการันตีผู้บริโภค

เล็งออกฉลากนาโนคิวการันตีผู้บริโภค

นาโนเทค เดินหน้าแผนยุทธศาสตร์ชาติ ออกฉลาก “นาโนคิว” จัดระเบียบผลิตภัณฑ์ของบ 500 ล้าน สร้างศูนย์วิเคราะห์ทดสอบเฉพาะทาง หวังยกระดับเอกชนไทย

               วันที่ 19 พ.ย. 55 ศ.นพ.ดร.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ผู้อำนวยการศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) กล่าวในการประชุม การสร้างความตระหนักรู้และการขับเคลื่อนมาตรการความปลอดภัยนาโนเทคโนโลยี ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัยแห่งชาติ (สกว.) และมหาวิทยาลัยนเรศวร ว่า ภายหลังคณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบแผนยุทธศาสตร์ด้านความปลอดภัยและจรินยธรรมนาโนเทคโนโลยี (พ.ศ. 2555-2559) เมื่อวันที่ 11 ก.ย. ที่ผ่านมา หลังจากใช้เวลาในการเตรียมการ สร้างความเข้าใจ และการมีส่วนร่วมของภาคอุตสาหกรรมมากว่า 3 ปี วันนี้ศูนย์นาโนเทคโนโลยีพร้อมเดินหน้า ออกฉลากนาโน (นาโนคิว) การันตีคุณภาพสินค้าแก่ผู้บริโภค

ปฏิเสธไม่ได้ว่ากระแสการตอบรับสินค้านาโนในหลายๆ ประเทศ รวมถึงประเทศไทยค่อนข้างดี มีผลิตภัณฑ์นาโนเทคโนโลยีในตลาดเป็นจำนวนมาก แต่สินค้าเกือบทั้งหมดยังไม่ได้รับการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ถึงการมีอยู่จริงของอนุภาคนาโน และผลลัพธ์ตามที่กล่าวอ้าง

“ในวันนี้เรามี ฉลากนาโนคิว (NanoQ) ที่นาโนเทคร่วมกับสมาคมนาโนเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ผลักดันให้เกิดขึ้น เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค โดยฉลากนาโนจะเป็นเครื่องมือที่สร้างความเชื่อมั่นทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ” ผู้อำนวยการศูนย์นาโนเทคกล่าว

ย้อนกลับไปเมื่อ 10 ปีก่อน แผนยุทธศาสตร์นาโนเทคโนโลยีของสหรัฐอเมริกา โดย NNI (National Nanotechnology Institute) ได้ประเมินศักยภาพของนาโนเทคโนโลยีในการพัฒนาอุตสาหกรรมว่า จะสามารถสร้างมูลค่าทางการตลาดได้ 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2015 แต่ปัจจุบันตัวเลขดังกล่าวได้บรรลุเป้าหมายในปี 2011 นั่นแปลว่าในปี 2015 มูลค่าของนาโนเทคโนโลยีในตลาดอาจสูงขึ้นถึง 2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ

สิ่งที่ทำให้เขามั่นใจเช่นนั้น มาจากตลาดทั่วโลก รวมถึงตลาดในภูมิภาคที่มีสินค้านาโนเทคโนโลยีมากขึ้น ทั้งในอุตสาหกรรมสิ่งทอ อิเล็กทรอนิกส์ แต่สิ่งสำคัญที่ยังขาดคือกลไกที่จะทำให้ผู้บริโภครับทราบถึงความปลอดภัย ภายใต้รูปแบบการจัดการที่เหมาะสม

นายศิริศักดิ์ เทพาคำ รองผู้อำนวยการนาโนเทค เสริมว่า อนุภาคนาโนที่มีอยู่ ณ ปัจจุบัน มีมากถึง 15 ชนิด แต่ที่ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายในประเทศไทย คือ ซิลเวอร์นาโน ไททาเนียมไดออกไซด์ และคาร์บอนนาโนทิวป์ ที่ใช้เป็นส่วนประกอบสำคัญในหลากหลายผลิตภัณฑ์ที่อยู่ใกล้ตัวผู้บริโภคมากขึ้น เช่น ผงซักฟอก สีทาบ้าน เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มที่เริ่มมีความซับซ้อนมากขึ้น ในขณะที่สินค้านาโนกว่า 90% ของตลาดยังไม่ผ่านกระบวนการพิสูจน์

“ในส่วนของฉลากนาโนคิว จะออกให้กับผู้ประกอบการตามความสมัครใจ โดยกระบวนการวิเคราะห์ทดสอบจะใช้ระยะเวลาประมาณ 3 เดือน เพื่อตรวจสอบทางกายภาพ เคมี และชีวภาพ ให้กับผลิตภัณฑ์ประเภทสิ่งทอ สี และวัสดุเคลือบ เช่น เซรามิคและพลาสติก ตลอดจนกระบวนการผลิตของโรงงาน ซึ่งปัจจุบันมีเพียงบริษัทเดียวที่ได้รับฉลากนาโนคิว คือ บริษัท สุพรีม โปรดักส์ ผู้ประกอบการรถพยาบาลนาโน กับผลิตภัณฑ์สีเคลือบนาโน ขณะที่บริษัทเอกชนอีกกว่า 10 รายอยู่ระหว่างดำเนินการ” เขาให้ข้อมูล

ฉลากนาโนคิว จะเป็นมาตรฐานหนึ่งที่ช่วยเตรียมความพร้อมให้กับภาคเอกชนที่ต้องการผลิตสินค้านาโนจำหน่ายทั้งในประเทศและในภูมิภาค หลังจากเออีซีเปิด ปัญหาการทะลักเข้ามาของสินค้านาโนที่อวดอ้างสรรพคุณ หรือนาโนเทียม จะทำให้มาตรการความปลอดภัยของสินค้านาโนมีความเข้มข้นขึ้น ขณะเดียวกันในมุมของประเทศไทยหากพบสินค้าที่อวดอ้างสรรพคุณนาโนเทคโนโลยี จะเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมาย ผ่านทาง สคบ. ต่อไป

อย่างไรก็ตาม ณ ปัจจุบัน ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ กำลังผลักดันให้เกิด ศูนย์วิเคราะห์ทดสอบนาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ ภายใต้งบดำเนินงาน 500 ล้านบาท โดยตั้งเป้าที่จะให้บริการวิเคราะห์ทดสอบแก่ภาคเอกชนได้ถึง 1 หมื่นรายต่อปี เนื่องจากวันนี้การวิเคราะห์ทดสอบยังมีข้อจำกัด ในส่วนของกระบวนการในการพิสูจน์ หาความเข้มข้นของสารนาโน

ทั้งนี้ การจัดการความเสี่ยงในเรื่องความปลอดภัยของนาโนเทคโนโลยีเป็นประเด็นที่มีการพูดถึงในเวทีนานาชาติ จากการประชุมที่เกี่ยวข้องกับการจัดการสารเคมีระดับโลก โดยไทยเป็นประเทศที่มีความพร้อมในการพัฒนาระบบและขับเคลื่อนแนวคิดการพัฒนานาโนเทคโนโลยีอย่างน่าสนใจ สำหรับในภูมิภาคไทยเป็นรองไต้หวัน ที่เดินหน้าฉลากนาโนมาร์ค และขับเคลื่อนมาตรฐานความปลอดภัยด้านนาโน ในช่วง 4 ปีที่ผ่าน โดยเฉพาะสินค้านาโนในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ที่เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว

อย่างไรก็ตาม แม้นาโนเทคโนโลยีจะเป็นเทคโนโลยีน้องใหม่ที่มีทั้งข้อดีและข้อเสีย แต่เขายังเชื่อว่า การที่ได้ทำความเข้าใจกับผู้ที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนความพร้อมของระบบที่ได้ดำเนินการมาตลอด จะทำให้คนมีความเข้าใจในเทคโนโลยี ไม่หวาดกลัวหรือต่อต้าน ซ้ำรอยเทคโนโลยีนิวเคลียร์ และเทคโนโลยีพืชดัดแปรพันธุกรรม (จีเอ็มโอ) ซึ่งเกิดแรงต่อต้านจากประชาชนทำให้เดินหน้าต่อได้ยาก

- Advertisment -spot_img

Most Popular

Recent Comments